นับเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แม้แต่คนไทยเองก็ยังตลก กับการมีขนม มีอาหารที่มีชื่อเป็นต่างประเทศ! แต่พอไปประเทศนั้นจริงๆ ดันไม่เห็นเคยเจอขนมแบบที่บ้านเราตั้งชื่อเหมือนเค้าสักอย่าง Gangbeauty เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ยังข้องใจ ฟังคนนั้นเล่ามา คนนี้เล่ามาบางทีก็มีลืมไปบ้าง เอาล่ะเรามาไขข้องใจกันดีกว่า ว่าทำไมมันถึงชื่อแบบนี้กันนะ!
1. ลอดช่องสิงคโปร์
อย่างแรกคือขนมไทย เส้นสีเขียว ราดกะทิ โรยน้ำแข็ง หอมเย็นชื่นใจ เรียกสั้นๆ ก็ลอดช่อง ซึ่งเจ้าลอดช่องเนี่ย จริงๆ แล้วก็เป็นขนมพื้นบ้านที่กินกันทั่วทั้งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่ล่ะ และเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากอินโดนีเซีย แต่ความแปลกคือในบ้านเรา มีลอดช่องสิงคโปร์ได้ไง! ความจริงแล้ว คำว่า "สิงคโปร์" นี้ไม่ได้หมายถึงประเทศสิงคโปร์หรอก แต่มันมาจากชื่อร้าน "สิงคโปร์โภชนา" ที่คิดค้นขึ้นในช่วงปี 2504 ขายหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ บนถนนเยาวราชนั่นเอง
2. ขนมโตเกียว
แพนเค้กสุดกรอบ ไส้เค็ม ไส้หวาน ไส้ไข่ ไส้รวมมิตรที่เข็นขายในบ้านเรากันให้เกลื่อนกลาด และเป็นขนมขวัญใจเด็กไทยแทบจะทุกโรงเรียน ต้นกำเนิดของมันไม่ค่อยแน่ชัดเท่าไหร่ แต่เชื่อกันว่าประมาณปี 2510 ห้างสรรพสินค้าไดมารูในญี่ปุ่น ได้มาเปิดกิจการในไทย ก็ได้มีคนคิดค้นขนมโตเกียวนี้ขึ้นมาขายในห้าง โดยดัดแปลงมาจากโดรายากิของญี่ปุ่น ตัวขนมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเทศญี่ปุ่นเลยล่ะจ้ะ
3. กล้วยแขก
กล้วยแขก หรือที่รู้จักกันในหน้าตาของกล้วยทอด คือขนมไทยที่โคตรอร่อยอีกอย่างนึงในบ้านของเรา 20 บาทในถุงกระดาษนี่บอกเลยว่าไม่เคยพอ ต้องมีเบิ้ลตลอด ที่มาของมันไม่ค่อยชัดเจนเช่นกัน แค่เพียงเชื่อกันว่าชื่อนี้ อาจจะมาจากวัฒนธรรมการปรุงอาหารแบบชาวอินเดีย ที่มักใช้วิธีทอด อารมณ์แบบถั่วทอดเป็นแผ่น ซึ่งมันแตกต่างกับอาหารไทยที่เน้นไปทางต้ม ปิ้ง ย่างเป็นหลักนั่นเอง
4. โมจิ ของดีนครสวรรค์
ไส้ไข่เค็ม ไส้ถั่ว และอีกนานาไส้ นับเป็นของฝากสุดฮิตที่คนไทย เวลาออกต่างจังหวัดมักไม่ลืมที่จะซื้อกลับมาฝากคนที่บ้าน ทว่าไปลองกินที่ญี่ปุ่นดูจริงๆ แป้งกลับไม่เหมือนกันซะงั้น แหล่งที่มาก็ไม่รู้แน่ชัดหรอก แต่เชื่อกันว่ามีคนไทย ไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วซื้อขนมโมจิกลับมาด้วย พอกินแล้วก็คิดว่ามันไม่ค่อยอร่อยถูกปากคนไทยเท่าไหร่ จึงดัดแปลงออกมาให้เป็นแบบไทยๆ โดยถือกำเนิดครั้งแรกที่นครสวรรค์ และกลายเป็นของฝากดีเด่นในปัจจุบัน ส่วนอีกความเชื่อนึงก็เชื่อว่าขนมโมจินี้ คิดค้นโดยพีระยา ตรีศักดิ์วัฒนพร ซึ่งได้แนวความคิดมาจากอิคคิวซัง การ์ตูนเณรน้อยสุดน่ารักนั่นเอง
5. ขนมจีน
เส้นอ้วน กลม สีขาวอวบ ในบ้านเรานิยมกินคู่กับน้ำยา น้ำพริก เหตุใดจึงเรียกมันว่า "ขนมจีน" ทั้งที่มันกินกับแกงแบบไทยแล้วโคตรอร่อย แถมไปเดินชิลที่จีนก็ไม่เคยจะเห็นสักร้านที่มีเส้นแบบนี้วางขาย นั่นก็เพราะขนมจีนนั้น เป็นอาหารจากมอญจ้ะ คำว่าขนมจีน มาจากภาษามอญว่า "ขฺนํจินฺ" [คะ -นอม-จีน] คำว่า "คะนอม" มีความหมายอย่างหนึ่งว่าเส้นขนมจีน คำว่า "จีน" มีความหมายว่า "สุก" เข้าใจแล้วเนอะ
6. ข้าวผัดอเมริกัน
ข้าวผัดซอสมะเขือเทศ ใส่ลูกเกด ถั่วลันเตา เคียงด้วยไส้กรอก ไข่ดาว ไก่ทอด อีกหนึ่งเมนูอร่อยของไทยที่มีชื่อเป็นต่างประเทศอีกแล้ว ซึ่งที่มาของมันก็มาจากคุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าตอนที่ทำงานเป็นผู้จัดการภัตตาคารของกรมรถไฟในสนามบินดอนเมือง ตอนนั้นมีสายการบินสั่งจองอาหารเช้าแบบอเมริกันไว้ แต่ก็เกิดยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้อาหารเหลือบานเบอะ คุณหญิงจึงนำข้าวผัดที่มี รวมกับอาหารเช้าจากสายการบิน เมื่อมีทหารถามว่านี่คือเมนูอะไร คุณหญิงก็ตอบว่าเป็นข้าวผัดอเมริกัน ในขณะเดียวกันอีกข้อมูลหนึ่งก็บอกว่ามาจากพ่อครัวที่ชื่อ "โกเจ๊ก" ที่คิดขึ้นเพื่อให้ทหารอเมริกันที่อยู่โคราช ได้กินในช่วงที่ไทยยังเป็นฐานทัพอเมริกาในสงครามเวียดนาม
7.คุกกี้สิงคโปร์
อีกหนึ่งเมนูที่มีชื่อเหมือนมาจากสิงคโปร์ แต่สำหรับในบ้านเรามันกลับถูกจัดอยู่ในหมวดขนมไทย เชื่อกันว่ามันมาจากการที่แป้งที่ใช้ทำคุกกี้แบบนี้ ต้องนำเข้าจากสิงคโปร์เท่านั้น เลยติดเรียกคุกกี้นี้ว่าคุกกี้สิงคโปร์นั่นเอง
อย่างน้อยก็ได้เข้าใจนะว่าเจ้าของกินพวกนี้ เป็นของไทยทั้งหมดนั่นแหละ!