ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

ตรุษจีน 2566 กับ 16 เรื่องน่ารู้ เสริมมงคลรับปีใหม่

 

  ตรุษจีน 2566 กับเรื่องราวที่หลายคนอาจเคยสงสัยเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน ทั้งการนับวัน ประวัติวันตรุษจีน วิธีไหว้ตรุษจีน วิธีปฏิบัติรับความเฮง รวมถึงข้อห้ามวันตรุษจีนต่าง ๆ วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

 หากพูดถึงวันปีใหม่ หลาย ๆ ประเทศจะจัดงานฉลองกันในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี แต่สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ทั่วทุกมุมโลกจะมีวันขึ้นปีใหม่เป็นของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า "วันตรุษจีน" นั่นเอง ซึ่งตามธรรมเนียมประเพณีแล้ว เทศกาลนี้ก็จะมีวิธีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการไหว้เทพเจ้า สิ่งที่ควรทำเพื่อความเป็นสิริมงคล รวมไปถึงข้อห้ามต่าง ๆ สำหรับใครที่เคยสงสัย อยากรู้จักวันตรุษจีนให้มากยิ่งขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมได้สรุป 16 เรื่องน่ารู้คู่ตรุษจีน 2566 มาให้แล้ว
        

1. วันตรุษจีน 2566 วันที่เท่าไหร่

          วันตรุษจีน 2566 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566 โดยจะแบ่งออกเป็นวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว ตามธรรมเนียมจีน ดังนี้

          วันจ่าย (办年货日) ตรงกับ วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566


          วันไหว้ (三十) ตรงกับ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566


          วันเที่ยว (初一) ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566


2. วันตรุษจีน นับยังไง

          ตามปฏิทินจันทรคติของจีน วันตรุษจีนหรือวันปีใหม่จะนับตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย หรืออยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีก็อาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไป เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนจะมี 29 วัน บางเดือนจะมี 30 วัน เท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับปฏิทินสากลที่เราคุ้นเคย เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของจีนในทุก ๆ ปีไม่ตรงกันเลย โดยจะถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 เดือน 1 คือวัน "ชิวอิก" หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ

ตรุษจีน

3. ประวัติวันตรุษจีน

          ที่มาของวันตรุษจีน จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ของชาวจีน เดิมทีไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2,100 ปี ก่อนคริสต์ศักราช จะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบ 1 รอบของดาวจูปิเตอร์ ต่อมาในยุค 1,000 กว่าปี ก่อนคริสต์ศักราช จะเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์ จนกระทั่งเพิ่งเปลี่ยนมานับเป็นวันปีใหม่จีนในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ. 340-551) หรือประมาณ 2,000 กว่าปีนี้เอง โดยกิจกรรมในวันตรุษจีนก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

          ส่วนประเทศไทย ฉลองตรุษจีนเป็นครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เกิดจากการที่ชาวจีนนำหมู เป็ด ไก่ และขนมต่าง ๆ มาถวายพระองค์ในเทศกาลตรุษจีนเป็นจํานวนมาก จึงรับสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์มาฉัน ณ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย 3 วัน วันละ 30 รูป โดยไม่ต้องมีการสวดมนต์ ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์จัดขนมจีนมาถวาย หลังจากพระฉันแล้วจึงนำไปเลี้ยงข้าราชการต่อ

4. ไหว้ตรุษจีน ทำอย่างไรให้ถูกหลัก

พิธีไหว้ตรุษจีนนั้นจะมีการไหว้ 3-4 ชุด เริ่มจาก

          ไหว้เจ้าช่วงเช้า (ช่วง 07.00-08.00 น.) : ไหว้เทพเจ้าด้วยชุดซาแซ คือ หมู เป็ด ไก่ ที่อาจเปลี่ยนเป็นไข่ย้อมสีแดงได้ และขนม เช่น ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู เลือกใช้ 2-3 ชนิด ผลไม้ไหว้ มีส้มสีทอง องุ่น แอปเปิล พร้อมกับกระดาษเงินและกระดาษทอง

          ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย (ช่วง 10.00-12.00 น.) : ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ด้วยเครื่องไหว้ ชุดซาแซ อาหารคาว-หวาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกอาหารตามที่บรรพบุรุษชอบ อย่างมากประมาณ 10 อย่าง โดยที่นิยมให้มีน้ำแกง เพื่ออวยพรให้ชีวิตราบรื่น ส่วนกับข้าวและขนมหวานต่าง ๆ ก็จะเลือกที่มีความหมายมงคล

          *ขั้นตอนนี้ไม่ควรทำเกินเที่ยงวัน หลังจากไหว้บรรพบุรุษเสร็จแล้วก็รับประทานอาหารร่วมกันทั้งครอบครัว พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนอั่งเปากัน

          ไหว้ผีไร้ญาติช่วงบ่าย (ช่วง 13.00-16.00 น.) : ไหว้ผีไร้ญาติ ด้วยข้าวสวย กับข้าว และขนมหวาน เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน พร้อมทั้งกระดาษเงินและกระดาษทอง เมื่อไหว้เสร็จแล้วให้จุดประทัดเพื่อเป็นการปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป

          เมื่อเป็นช่วงกลางดึกของคืนวันสิ้นปี ก่อนจะย่างเข้าวันเที่ยวตรุษจีน จะมีการไหว้ "ไฉ่ซิงเอี้ย" หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพื่อเสริมสิริมงคลตลอดทั้งปี

ตรุษจีน

5. การไหว้ไฉ่ซิงเอี้ยในวันตรุษจีน 2566

           ไฉ่ซิงเอี้ย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ชาวจีนเชื่อว่าเทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ยจะเสด็จมายังโลกมนุษย์เพียงปีละครั้ง คือ วันตรุษจีน ดังนั้น เมื่อเข้าสู่วันตรุษจีน ชาวจีนแต่โบราณจะทำการตั้งโต๊ะบูชาไฉ่ซิงเอี้ย เพื่อเสริมสิริมงคลรับปีนักษัตรใหม่ โดยแต่ละปีจะมีทิศที่เทพเจ้าองค์นี้เสด็จลงมาแตกต่างกันไป

          สำหรับตรุษจีน 2566 ผู้ที่จะไหว้เทพไฉ่ซิงเอี้ยให้ตั้งโต๊ะบูชาหันหาทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ท่านเสด็จผ่าน โดยเริ่มไหว้ในยามแรกของปี คือ คืนวันที่ 21 มกราคม เวลา 23.00-01.00 น. แต่มีข้อห้ามคือ ห้ามผู้ที่เกิดปีระกา ซึ่งเป็นปีชงในปี 2566 ไหว้เป็นคนแรก (หากในบ้านมีแต่คนเกิดปีระกาทั้งหมด แนะนำให้ใช้ฤกษ์ไหว้เวลา 03.00-05.00 น. ของวันที่ 22 มกราคม แทน)

          ทั้งนี้ ให้จัดของบูชา ประกอบด้วย ป้ายชื่อหรือองค์ไฉ่ซิงเอี้ย เทียนแดง 1 คู่ น้ำเปล่า น้ำชา 5 ที่ อี๋แดง หรือสาคูแดง เจฉ่าย 5 ชนิด ได้แก่ ฟองเต้าหู้, วุ้นเส้น, เห็ดหูหนูดำหรือเห็ดหอม, เห็ดหูหนูขาว และดอกไม้จีน บางท่านอาจมีผลไม้ เพ้า ชุดกระดาษเงิน-กระดาษทอง และของตามกำลังศรัทธา

6. วิธีการจัดโต๊ะไหว้ตรุษจีน

          หลักการจัดโต๊ะไหว้ตรุษจีนให้ตรงตามธรรมเนียมนั้น มีตำแหน่งอยู่ทั้งหมด 9 ตำแหน่งด้วยกัน โดยแต่ละตำแหน่งจะมีของวางอยู่ตามนี้

          ตำแหน่งที่ 1 : จัดวางโต๊ะไหว้ไว้บริเวณด้านหน้าเทวรูปหรือแท่นบูชา

          ตำแหน่งที่ 2 : วางกระถางธูปไว้หน้าเทวรูปหรือแท่นบูชา

          ตำแหน่งที่ 3 : วางเชิงเทียนและแจกันดอกไม้ ขนาบทั้งซ้ายและขวาของกระถางธูป

          ตำแหน่งที่ 4 : วางชามข้าวพูน ๆ พร้อมตะเกียบ

          ตำแหน่งที่ 5 : วางถ้วยน้ำชาหรือถ้วยเหล้าจีน เป็นแถวถัดไปจากชามข้าว

          ตำแหน่งที่ 6 : วางถ้วยน้ำดื่มในแถวถัดออกมาจากถ้วยน้ำชาหรือถ้วยเหล้าจีน

          ตำแหน่งที่ 7 : วางเนื้อสัตว์และเมนูกับข้าวต่าง ๆ ที่เตรียมไว้

          ตำแหน่งที่ 8 : วางขนมหวานและผลไม้ตามที่ได้เตรียมไว้

          ตำแหน่งที่ 9 : วางเครื่องไหว้อื่น ๆ เช่น กระดาษเงิน, กระดาษทอง, อ่วงแซจี๊ (ใบเบิกทางให้บรรพบุรุษมารับของไหว้), อิมกังจัวยี่ (แบงก์กงเต็ก) และเสื้อกระดาษกงเต็ก ที่ใช้ในพิธีไหว้ตรุษจีน

ตรุษจีน

7. ของไหว้ตรุษจีน มีอะไรบ้าง

          ในวันตรุษจีนจะมีการเตรียมของไหว้อย่างพิถีพิถัน แบ่งเป็นเนื้อสัตว์ (ซาแซ 3 อย่าง หรือโหงวแซ 5 อย่าง) ผลไม้ ของหวาน กับข้าวคาว กับข้าวเจ พร้อมด้วยสุรา น้ำชา ข้าวสวย และกระดาษเงิน-กระดาษทองประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาหารแต่ละอย่างต่างก็ซ่อนความหมายมงคลอยู่ ดังนี้

ความหมายของอาหารไหว้วันตรุษจีน

          ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ และความขยันขันแข็ง ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องเป็นไก่เต็มตัว หมายถึง มีหัว ตัว ขา ปีก มีความหมายถึง ความสมบูรณ์

          - เป็ด หมายถึง สิ่งบริสุทธิ์ ความสะอาด ความสามารถอันหลากหลาย

          ปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ อุดมสมบูรณ์

          หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้

          ปลาหมึก หมายถึง เหลือกินเหลือใช้ (เหมือนปลา)

          - บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หรือฉางโซ่วเมี่ยน ตามชื่อหมายถึง อายุยืนยาว

          เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก

          - ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน

          - สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย

          หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก

ความหมายของผลไม้ที่ใช้ในวันตรุษจีน

          - กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภเข้ามา และขอให้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง

          - แอปเปิล หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ

          - สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ควรระวัง ไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)

          - ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล

          - องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน

          - สับปะรด คำจีนเรียกว่า "อั่งไล้" แปลว่า มีโชคมาหา

ความหมายของขนมไหว้วันตรุษจีน

          - ขนมเข่ง คือ ความหวานชื่น ราบรื่นในชีวิต ขนมเข่งที่ใส่ในชะลอม หมายถึง ความหวานชื่นอันสมบูรณ์

          - ขนมเทียน คือ ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลม มีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์

          - ขนมไข่ คือ ความเจริญเติบโต

          ขนมถ้วยฟู คือ ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู

          - ขนมสาลี่ คือ รุ่งเรือง เฟื่องฟู

          - ซาลาเปา หรือหมั่นโถว คือ ห่อโชค โชคดี

          - จันอับ (จั๋งอั๊บ) คือ มีความสุขตลอดไป

ตรุษจีน

8. สิ่งที่ควรทำในวันตรุษจีน

          - ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้วิญญาณไม่มีญาติ โดยช่วงเช้า (07.00-08.00 น.) ควรไหว้เจ้าในบ้าน หรือ "ตี่จูเอี้ย" และช่วงสาย (09.00-12.00 น.) ไหว้บรรพบุรุษให้เรียบร้อย หลังจากนั้นในช่วงบ่าย (13.00-15.00 น.) จึงไหว้วิญญาณไม่มีญาติ

          - ทำพิธีรับไฉ่ซิงเอี้ย ไฉ่ซิงเอี้ยเป็นเทพพิทักษ์ทรัพย์ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ส่วนใหญ่จะทำพิธีระหว่างหลังเที่ยงคืนของวันซาจั๊บ จนถึงก่อนตี 1

          - ติดตุ๊ยเลี้ยง หรือคำอวยพรปีใหม่ ชาวจีนนิยมประดับป้ายคำอวยพร ซึ่งจะเขียนด้วยตัวอักษร 7 ตัว เป็นคำกลอน ส่วนมากจะอวยพรให้ทำมาค้าขึ้น มั่งมีเงินทอง โดยนำมาติดตามสองข้างประตูบ้าน และต้องมีอีก 1 แผ่นสำหรับติดทางขวางตรงกลางทางเข้า-ออก แผ่นนี้จะต้องเขียนคำว่า "ชุก ยิบ เผ่ง อัง" ซึ่งมีความหมายว่า เข้า-ออกโดยปลอดภัย

          กินเจมื้อเช้า เป็นมื้อแรกของปีใหม่ ในวันขึ้นปีใหม่จีน คนจีนจะกินเจมื้อแรกของปี เพราะเชื่อกันว่าจะได้บุญเหมือนกับกินเจตลอดทั้งปี

          - เลือกใส่เสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส เปรียบได้กับเสริมความสว่างสดใสและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยเฉพาะสีแดง เป็นสีที่เป็นมงคลและนิยมมากที่สุด

          - อวยพรผู้ใหญ่ ด้วยส้ม 4 ผล ตามประเพณีของชาวจีน ในวันตรุษจีนทุกคนจะนำส้ม 4 ผล ไปกราบขอพรผู้ใหญ่ ซึ่งเจ้าของบ้านนั้นก็จะต้องรับส้มมา 2 ผล และนำส้มที่ตัวเองเตรียมไว้วางคืนลง 2 ผล พร้อมกับเตรียมเมล็ดแตงโมย้อมสีแดงไว้ 1 พาน และสมอจีน ไว้รับแขกที่มาอวยพรด้วย

          - รับอั่งเปา วันตรุษจีนเป็นวันที่จะได้รับซองแดง พร้อมเงินขวัญถุงจากผู้ใหญ่ เพื่อให้โชคดีตลอดทั้งปี

          - รวมญาติกินเกี๊ยว วันตรุษจีนถือเป็นวันรวมญาติของชาวจีน โดยทุกคนจะเดินทางมาร่วมโต๊ะกินเกี๊ยวในวันซาจั๊บมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ ที่เป็น "เกี๊ยว" เพราะว่าลักษณะของเกี๊ยวเหมือนกับเงินของจีน จึงมีความหมายว่า ให้มั่งมีเงินทอง

ตรุษจีน

9. ข้อห้ามวันตรุษจีน


          - ห้ามทำความสะอาดบ้าน เช่น การซักล้าง หรือการกวาดบ้านปัดฝุ่น จะเป็นการขับไล่ความโชคดีออกไป ดังนั้น การทำความสะอาดบ้านจึงควรเริ่มทำตั้งแต่ก่อนที่วันขึ้นปีใหม่จะมาถึง

          - ห้ามใช้ของมีคม เช่น มีด กรรไกร ที่ตัดเล็บ เชื่อว่าการใช้ของมีคมจะเป็นการตัดสิ่งที่ดีออกไป

          - ห้ามสระผม ห้ามตัดผม เชื่อว่าเป็นการชะล้างความโชคดี

          - อย่าซุ่มซ่าม ต้องระมัดระวัง อย่าทำข้าวของเครื่องใช้แตกเสียหาย ถือว่าจะเป็นการนำสิ่งไม่ดีเข้ามา

          - ห้ามพูดกับหยาบคาย คำที่ไม่เป็นมงคล และห้ามโต้เถียง ไม่ควรพูดคำที่ไม่เป็นมงคล หรือมีความหมายไปในทางลบ

          - ห้ามเข้าไปในห้องนอนคนอื่น การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษจีนถือเป็นโชคร้าย

          - ห้ามใส่เสื้อผ้าขาว-ดำ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ดังนั้น การสวมเสื้อผ้าสีขาว-ดำในวันนี้จึงหมายถึงลางร้าย คนจีนจึงมักสวมเสื้อผ้าสีแดงกันเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเชื่อว่าสีแดงคือสีที่จะนำความโชคดีมาให้


ตรุษจีน

10. ตรุษจีน 2566 กินอะไรดีถึงจะเฮง

          อาหารในวันตรุษจีนตามประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบต่อกันมา จะมีการรับประทานมากกว่าวันอื่น เพราะมีความหมายว่า ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวย และจะจัดเตรียมไว้เพื่อญาติและเพื่อน รวมไปถึงผู้ที่ล่วงลับด้วย มาดูกันดีกว่าว่า เมนูยอดนิยมอะไรบ้าง ที่เชื่อว่ากินแล้วจะมีโชคและร่ำรวยรับตรุษจีน

          - ปลานึ่ง
 หมายถึง ความอุดมสมบรูณ์ มีกินมีใช้ และการอยู่ร่วมกัน


          - ไก่ต้ม 
หมายถึง ความเจริญก้าวหน้าและความสมบูรณ์


          - เป็ดย่าง 
หมายถึง การงานประสบความสำเร็จและได้เลื่อนขั้น


          - ผัดหมี่ซั่ว 
หมายถึง ชีวิตที่ยืนยาว


          - เต้าหู้ทอด 
หมายถึง เต็มไปด้วยความร่ำรวยและความสุข


          - หน่อไม้น้ำแดง 
หมายถึง ให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข ความอิ่มเอิบใจ


          - เกี๊ยว 
หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย


          - เปาะเปี๊ยะ 
หมายถึง ชีวิตสดใส ร่ำรวยเงินทอง


          - บัวลอย 
หมายถึง ความร่มเย็นเป็นสุข


          - เม็ดบัว 
หมายถึง การมีลูกชาย หลานชาย


          - เกาลัด 
หมายถึง เงินทอง


          - ผลไม้
 หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวย

11. แต๊ะเอีย กับ อั่งเปา ต่างกันอย่างไร ให้เท่าไรถึงจะเป็นสิริมงคล

          "อั่งเปา" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า ซองสีแดง โดยชาวจีนมักจะใส่เงินหรือธนบัตรลงในซองแดง เพื่อนำมามอบให้คนรู้จักในวันตรุษจีน วันแต่งงาน หรือในโอกาสเปิดกิจการใหม่ เพื่อเป็นการอวยพร

          "แต๊ะเอีย" แปลว่า ของที่มากดหรือทับเอว คำนี้มีที่มาจากคนจีนสมัยก่อนจะใช้เงินเหรียญที่มีรูอยู่ตรงกลางร้อยเป็นพวงมาผูกไว้ที่เอว และในเทศกาลตรุษจีน ผู้ให้ก็จะนำเชือกสีแดงมาร้อยเหรียญไว้ แล้วมอบให้ผู้รับ ส่วนในปัจจุบันไม่มีการใช้เงินเหรียญที่มีรูตรงกลางแล้ว แต๊ะเอียจึงมีความหมายถึงสิ่งของ หรือเงินที่ใส่ไว้ในซองสีแดงนั่นเอง

          ทีนี้จะให้อั่งเปาเท่าไรดีนะ ? ปกติแล้วผู้ให้อั่งเปามักจะใส่จำนวนเงินเป็นเลขคู่ เพราะคนจีนถือว่าเลขคู่เป็นเลขมงคล หมายถึง ทวีคูณ โชคสองชั้น แต่ถ้าพูดถึงจำนวนที่นิยม เลข 8 ดูน่าจะเป็นจำนวนยอดฮิต เพราะในภาษาจีนเลข 8 อ่านออกเสียงคล้ายคำที่มีความหมายว่า ความร่ำรวย รุ่งโรจน์ รุ่งเรือง


ตรุษจีน

12. ของขวัญมงคลวันตรุษจีน

          - หยก ตามความเชื่อแล้ว หยกมีพลังของความเป็นอมตะ ทำให้ผู้ที่ครอบครองหยกนั้นมีอายุยืนยาว

          - คางคกสามขา รูปปั้นคางคกสามขาเป็นของมงคลสำหรับผู้ที่ทำมาค้าขาย เหมาะที่จะมอบเป็นของขวัญสำหรับผู้ที่ทำกิจการ

          - ผี่อิว รูปปั้นผี่อิวมีลักษณะเป็นสัตว์ป่ารูปร่างคล้ายหมี ดูดุดัน มีพลังขจัดสิ่งชั่วร้าย และให้โชคลาภ นิยมวางไว้ตามสถานประกอบการต่าง ๆ

          - รูปปั้นเต่า เต่าเป็นเครื่องหมายของการมีอายุยืนยาวและสุขภาพแข็งแรง เหมาะจะมอบให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วย แต่หากมอบให้หนุ่มสาว จะนำพาโชคลาภมาให้

          - ปี่เซียะ เครื่องรางยอดนิยมที่หลายคนรู้จักกันดี หัวเป็นมังกร เขาเหมือนกวาง มีหาง อ้าปากกว้าง ให้คุณด้านโชคลาภ ค้าขาย

          - ชุดน้ำชา ชาเป็นเครื่องดื่มที่ชาวจีนนิยมใช้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน ดังนั้น การมอบชุดน้ำชาให้แก่กันในวันตรุษจีนถือเป็นเรื่องมงคล

          - ส้ม คือ ผลไม้มงคลของชาวจีนในทุกเทศกาล และสื่อถึงโชคลาภ ความสุข การให้ส้มนั้นนับเป็นของขวัญที่มีความหมายล้ำค่าและดีต่อสุขภาพผู้รับด้วย

13. ของต้องห้ามมอบให้กันวันตรุษจีน


          - รูปปั้นไฉ่ซิงเอี้ย เพราะถือว่าเป็นการมอบโชคลาภให้กับผู้อื่น และอาจทำให้ทั้งผู้ให้และผู้รับมีปัญหาด้านการเงินทั้งคู่

          - กระเป๋าสตางค์ 
เพราะถือว่าเป็นการส่งทรัพย์สินของตนเองไปให้ผู่อื่น ส่งผลให้เงินทองรั่วไหล

          - รองเท้า เนื่องจากคำว่ารองเท้าในภาษาจีน พ้องเสียงกับคำว่าสิ่งชั่วร้าย จึงนับว่าเป็นของที่ไม่มงคล ไม่ควรมอบให้กันในช่วงตรุษจีน

          - นาฬิกา คำพ้องเสียงในภาษาจีนคำว่านาฬิกานั้นตรงกับคำว่าการส่งศพ ดังนั้นจึงไม่ควรมอบให้กันเป็นอย่างยิ่งในช่วงตรุษจีน

ตรุษจีน

14. ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ควรไปไหว้ขอพรวันตรุษจีน


          - วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่ 1)

          - วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)

          - วัดมังกรบุปผาราม (วัดเล่งฮัวยี่)

          - วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)

          - ศาลเจ้าแม่กวนอิม (มูลนิธิเทียนฟ้า)

          - ศาลเจ้าพ่อเสือ (ศาลเจ้าตั่วเล่าเอี้ย)

          - ศาลเจ้ากวนอู และเทพเจ้าม้า

          - ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ

          - ศาลเจ้าปุงเถ่ากง

          - ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี

ตรุษจีน

15. อวยพรตรุษจีน พร้อมคำแปล

          - "ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ" ในภาษาจีนกลาง หรือ "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวกไช้" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนาในวันปีใหม่ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี

          - "กงซีฟาไฉ" แปลว่า ขอให้ร่ำรวย เงินทองไหลมาเทมา

          - "ซินเหนียนไคว้เล่อ" แปลว่า สุขสันต์วันปีใหม่ ขอให้มีความสุขมาก ๆ

          - "ต้าจี๋ต้าลี่" แปลว่า โชคดีมีสุขตลอดทั้งปี

          - "หลงหม่าจินเสิน" แปลว่า ขอให้สุขภาพแข็งแรง

          - "เจียห่าวยวิ่นชี่" แปลว่า มีความโชคดีเข้าบ้าน

          - "ซิ่งฝูหรูอี้" แปลว่า ขอให้มีความสุขสมปรารถนา

          - "เจาไฉจิ้นเป่า" แปลว่า เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติไหลเข้าบ้าน

          - "หวงจินว่านเหลี่ยง" แปลว่า ทองคำมากล้นทวีคูณ ช่วยส่งเสริมให้การค้าขายมีกำไร เพิ่มทรัพย์สินเงินทองให้มีมากมาย

          - "เหนียนเหนียนโหย่วอวี๋" แปลว่า มีเงินมีทองเหลือกินเหลือใช้ทุกปี

          - "ยื่อยื่อโหย่วเจี้ยนไฉ" แปลว่า ขอให้ทุกวันมีแต่ความร่ำรวย

ตรุษจีน

16. ตรุษจีน 2566 ปีชง

          ปีชง นับเป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์ของชาวจีน โดยเชื่อกันว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละปี มีความเกี่ยวข้องกับ "เทพไท้ส่วยเอี้ย" คอยทำหน้าที่คุ้มครองดวงชะตา และสามารถบันดาลเคราะห์กรรมและโชคลาภ ซึ่งปี 2566 มีปีชงตรง คือ ปีระกา และมีปีชงร่วม ได้แก่ ปีเถาะ, ชวด, มะเมีย

          สำหรับวิธีแก้ชงสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ทำบุญโลงศพ ทำบุญถวายผ้าไตรจีวร สังฆทาน และยารักษาโรค ทำบุญใส่บาตร เติมน้ำมันตะเกียง สวดมนต์ นั่งสมาธิ บริจาคโลหิต และไหว้องค์เทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย

          นอกจากเกร็ดความรู้ทั้ง 16 เรื่องที่เรานำมาฝาก ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวันตรุษจีนอีกมากมาย สามารถคลิกไปอ่านเพิ่มเติมกันได้เลย

https://horoscope.kapook.com/view219480.html

แม่นเหลือเชื่อ เลขท้ายบัตร บอกได้ว่าคุณ จะร่ำรวยหรือลำบาก

 การทำนายดวงชะตาว่าจะรวยหรือจนนั้นแม้จะหาความแน่นอนไม่ได้นักเพราะส่วนหนึ่งมันก็เป็นไปตามการตัดสินใจของเราด้วย แต่ว่าตัวเลขที่อยู่ติดตัวเราต...